ร่วมลงนามถวายพระพรออนไลน์ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา เชิญคลิกที่ลิงก์นี้ https://forms.gle/cMfTJou8GPuSYacXA

พระราชประวัติ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา

สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ประสูติเมื่อวันที่ 8 มกราคม 2530 ทรงเป็นพระราชธิดาพระองค์ที่ 2 ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเป็นพระราชนัดดาในพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง มีพระเชษฐภคินีและพระอนุชา 2 พระองค์ คือ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี และสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าทีปังกรรัศมีโชติ มหาวชิโรตตมางกูร สิริวิบูลยราชกุมาร

เมื่อแรกประสูติทรงดำรงพระอิสริยยศ “หม่อมเจ้า” มีพระนามว่า “หม่อมเจ้าบุษย์น้ำเพชร มหิดล” ต่อมาได้รับพระราชทานพระนามใหม่ว่า “หม่อมเจ้าจักรกฤษณ์ยาภา มหิดล” จากนั้นสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระราชทานพระนามใหม่ว่า “หม่อมเจ้าสิริวัณวรี มหิดล”

ภายหลังพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ สถาปนาขึ้นเป็น “พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าสิริวัณณวรีนารีรัตน์” เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2548 ด้วยทรงเจริญวัยพร้อมด้วยวุฒิปรีชาสามารถศึกษาเล่าเรียนและปฏิบัติสรรพกิจได้เป็นอันดี

การศึกษา

พระองค์สำเร็จการศึกษาระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 จากโรงเรียนจิตรลดา ต่อมาได้สำเร็จการศึกษาศิลปกรรมศาสตรบัณฑิต เกียรตินิยมอันดับ 1 (เหรียญทอง) ภาควิชานฤมิตศิลป์ คณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ด้วยคะแนนเฉลี่ย 3.93 และทรงได้รับรางวัลนิสิตดีเด่นประจำปีการศึกษา 2551 ด้วยมีผลการการเรียนอันน่าพึงใจ หลังจากนี้พระองค์ได้ศึกษาต่อระดับปริญญาโท ณ วิทยาลัยสมาคมการออกแบบเสื้อผ้าปารีส (École de la chambre syndicale de la couture parisienne) ประเทศฝรั่งเศส

พระอัจฉริยภาพด้านต่าง ๆ

สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ทรงมีพระปรีชาสามารถด้านการออกแบบแฟชั่นและเครื่องประดับ โดดเด่นเป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติ โดยทรงออกแบบเสื้อผ้าภายใต้แบรนด์ “SIRIVANNAVARI” และ S’Home เสื้อผ้าของสตรีและบุรุษ ได้รับเสียงชื่นชมอย่างเนืองแน่นในวงการแฟชั่นโลก กับการออกแบบเสื้อผ้าชั้นสูงที่มีความประณีต ที่เหล่าผู้มีชื่อเสียงนิยม ทั้งยังมีแบรนด์ต่าง ๆ อย่าง Sirivannavari maison แบรนด์ของแต่งบ้าน รวมไปถึงแบรนด์ชุดแต่งงาน

นอกจากทรงออกแบบเสื้อผ้าคอลเล็กชั่นต่าง ๆ แล้ว พระองค์ยังทรงสนับสนุนผ้าไทย ด้วยการนำผ้าไหมมาตัดเย็บเป็นชุดต่าง ๆ ทั้งนี้ยังทรงออกแบบชุดให้กับ เดมี ลีห์ เนล ปีเตอร์ มิสยูนิเวิร์ส 2017 และโศภิดา กาญจนรินทร์ มิสยูนิเวิร์สไทยแลนด์ 2018 ได้สวมใส่ ในการประกวดรอบไทยไนท์ ของเวทีนางงามจักรวาลที่จัดประกวดที่ประเทศไทยอีกด้วย ทำให้กระทรวงวัฒนธรรม ถวายรางวัล ศิลปาธร ประจำปี 2561 ในสาขาศิลปะการออกแบบ (แฟชั่นและเครื่องประดับ)

ด้วยความสนพระทัยด้านแฟชั่น พระองค์จึงเสด็จไปทอดพระเนตรงานปารีสแฟชั่นวีกอยู่เสมอ และได้รับเสียงชื่นชมจากสื่อต่างชาติ อาทิ นิตยสาร Grazia ประเทศอังกฤษ จัดอันดับให้พระองค์ทรงอยู่ในลำดับที่ 1 ของเจ้าหญิงที่มีสไตล์ที่สุดในโลก จนได้รับการขนานนามว่าทรงเป็น “เจ้าหญิงแฟชั่น”

ทั้งนี้ พระองค์ยังทรงเป็นพระอาจารย์สอนนักเรียนปริญญาเอก ศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาฯ ด้วย

เมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม 2564 เฟซบุ๊กเพจ Vogue Thailand ได้เผยแพร่ การจัดทำเนียบบุคคลผู้ทรงอิทธิพลในอุตสาหกรรมแฟชั่นในประเทศไทย 100 คน เพื่อฉลองครบรอบเล่มที่ 100 ของโว้กประเทศไทย โดย สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา เป็นหนึ่งในรายชื่อทำเนียบดังกล่าว

Vogue Thailand ระบุว่า พระองค์ทรงเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมแฟชั่นในประเทศไทย ทั้งในฐานะดีไซเนอร์ผู้ก่อตั้งแบรนด์ SIRIVANNAVARI BANGKOK และ S’HOMME ที่สร้างชื่อในระดับสากลจนต่างประเทศกราบทูลเชิญเสด็จฯ ไปเปิดนิทรรศการจัดแสดง ณ กรุงปารีส ด้วยพระวิสัยทัศน์ในการออกแบบ

ตลอดจนการเย็บปักที่ประณีตพิถีพิถันเทียบเท่ามาตรฐานของห้องเสื้อโอตกูตูร์ของฝรั่งเศส จึงเป็นการยกระดับคุณภาพผลงานของดีไซเนอร์ไทยให้ทัดเทียมแบรนด์ระดับโลก นอกจากนี้พระองค์ยังทรงเล็งเห็นความสำคัญของผ้าไทย ทรงอนุรักษ์และต่อยอดผ้าไทยอย่างจริงจัง ทั้งยังทรงออกแบบลายมัดหมี่ชื่อ “ผ้ามัดหมี่ลายขอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ” พระราชทานช่างทอผ้า เพื่อนำไปใช้สร้างรายได้และอาชีพที่ยั่งยืนให้กับชุมชนทอผ้าทั่วประเทศ

สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ยังทรงมีพระอัจฉริยภาพด้านกีฬาที่โดดเด่น โดยทรงโปรดกีฬาแบดมินตัน และการขี่ม้า โดยทรงเริ่มเล่นกีฬาแบดมินตัน ตั้งแต่ทรงศึกษามัธยมศึกษาปีที่ 3 และทรงผ่านการคัดเลือกเป็นนักกีฬาแบดมินตันทีมชาติไทย เข้าร่วมการแข่งขันซีเกมส์ ครั้งที่ 23 ที่ประเทศฟิลิปปินส์ เมื่อปี 2548 และทรงคว้าเหรียญทองประเภททีมหญิง ก่อนจะติดทีมชาติเข้าร่วมการแข่งขันแบดมินตันในซีเกมส์ ครั้งที่ 24 ที่ จ.นครราชสีมา และทรงคว้าเหรียญทองแดงจากประเภททีมหญิง

ขณะที่กีฬาขี่ม้า พระองค์ทรงสนพระทัยตั้งแต่ทรงพระเยาว์ ตามแบบสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี โดยทรงคว้าแชมป์ประเภท Dressage ในรายการไทยแลนด์แชมเปี้ยนชิพ คิงส์คัพ 2012 และเป็นคนไทยคนแรกที่จบหลักสูตรการขี่ม้าจากประเทศฝรั่งเศส โดยพระองค์ทรงเป็นตัวแทนประเทศไทย ไปแข่งขันกีฬา ซีเกมส์ 2017 ที่ประเทศมาเลเซีย คว้าเหรียญเงินในการแข่งขันศิลปะการบังคับม้า ประเภทบุคคล ทั้งนี้ สมาคมกีฬาขี่ม้าแห่งประเทศไทย ได้ถวายรางวัล Best Achievement Award ให้แก่พระองค์ด้วย

ดุริยศิลป์-คีตศิลป์

ไม่เพียงแต่พระอัจฉริยภาพด้านกีฬา และการออกแบบ พระองค์ยังทรงสนพระทัยในเรื่องดุริยศิลป์และคีตศิลป์ ทรงประพันธ์บทเพลงเพื่อใช้ในการแสดงแฟชั่นโชว์แบรนด์แฟชั่น หลายต่อหลายครั้ง และยังทรงเป็นองค์อุปถัมภ์ของ Royal Bangkok Symphony Orchestra เช่นเดียวกับพระอัจฉริยภาพด้านงานประพันธ์ ที่ทรงนิพนธ์หนังสือเล่มแรก “The Princess Dog Diary บันทึกคุณน้ำหอม สุนัขทรงเลี้ยงของเจ้าหญิง” อันเป็นเรื่องของเหล่าสุนัขทรงเลี้ยงและม้าทรงโปรด

นอกจากนี้ยังทรงโปรดการถ่ายภาพ โดยพระอัจฉริยภาพของพระองค์ เป็นที่ประจักษ์ผ่านนิทรรศการภาพถ่าย “Little Wild” นิทรรศการภาพถ่ายฝีพระหัตถ์ที่ฉายให้เห็นถึงความงามของสัตว์ป่า และธรรมชาติของประเทศเคนยา

พระยศทางทหาร

วันที่ 24 กรกฎาคม 2561 ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ ประกาศ เรื่อง พระราชทานพระยศทหาร มีรายละเอียดระบุว่า

สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร มีพระราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม
พระราชทานพระยศทหาร อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 5 และมาตรา 6 แห่งพระราชบัญญัติยศทหาร
พุทธศักราช 2479

จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานพระยศ พันเอกหญิง ให้ ว่าที่พันเอกหญิง พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าสิริวัณณวรีนารีรัตน์ พระอาจารย์หัวหน้าแผนก โรงเรียนทหารม้า ศูนย์การทหารม้า (อัตรา พันเอก)

ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 21 มิถุนายน พุทธศักราช 2561 ประกาศ ณ วันที่ 22 กรกฎาคม พุทธศักราช 2561 เป็นปีที่ 3 ในรัชกาลปัจจุบัน

โรงเรียนเนกขัมวิทยา ขอเชิญชวนร่วมลงนามถวายพระพร สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา เนื่องในโอกาสวันคล้ายวันประสูติ วันที่ 8 มกราคม 2566 ผ่านระบบออนไลน์ https://forms.gle/cMfTJou8GPuSYacXA

ที่มา : ประชาชาติธุรกิจ ออนไลน์

By admin

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

You missed

error: Content is protected !!